บพท. พมส. และ ม.บูรพา ลงพื้นที่ฝั่งตะวันออก เข้าพบนักวิจัยเทศบาลเมืองตราด พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองร่วมกัน

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) และมหาวิทยาลัยบูรพา ลงพื้นที่ฝั่งตะวันออก เข้าพบนักวิจัยเทศบาลเมืองตราด พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองร่วมกัน

วันพุธที่ 14 มิถุนายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ (ฝ่าย 3) พร้อมด้วยนักวิจัยคณะทำงานหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) โดย ดร. ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ที่ปรึกษามูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และนักวิจัยในโครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยบูรพา นำโดย ดร. ภาณุวัฒน์ ด่านกลาง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ อ.ดร ศศิรมย์ พานทอง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์   (ร่วมผ่าน zoom) และ ผศ.ดร.พัชรินทร์ พูลทวี อาจารย์ประจำคณะพยาบาล ได้เข้าพบผู้บริหารและบุคลากรเมืองพัทยา นำโดย นายประสาน พงษ์พานิช รองนายกเทศมนตรีเมืองตราด และคณะนักวิจัยเทศบาลเมืองตราด นำโดย พันจ่าเอกธรรมนูญ จันทร์แจ้ง นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ และนายรุ่งโรจน์ แสวงกาญจน์ เพื่อหารือการดำเนินโครงการวิจัยการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ ร่วมกับนักวิจัย รวมถึงฝ่ายต่าง ๆ และภาคีที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับกระบวนการวิจัย เพื่อเตรียมความพร้อมคนทำงาน สร้างการเปลี่ยนแปลง ซักซ้อมความเข้าใจ และตอบประเด็นซักถามและข้อหารือในประเด็นต่าง ก่อนการลงมือปฏิบัติการวิจัยด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง

          สาระโดยสังเขปของการหารือกับนักวิจัยเทศบาลเมืองตราดนั้น ทางทีม บพท. พมส. พร้อมทีมโค้ชด้านวิชาการในพื้นที่ อย่างคณาจารย์จากหลากหลายสาขาวิชา ของมหาวิทยาลัยบูรพา จะร่วมกันตอบโจทย์ สร้างการเปลี่ยนแปลงตามความคาดของ “โครงการการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองเพื่อการบริหารสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะของเทศบาลเมืองตราด” ที่นอกจากการได้มาซึ่งแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชุน เพื่อใช้ในการวางแผน และบริหารจัดการกับปัญหาขยะมูลฝอยในท้องถิ่น รวมถึงพื้นที่ข้างเคียงได้อย่างมี ประสิทธิภาพ และเกิดการพัฒนาเมืองได้อย่างยั่งยืนโดยใช้ข้อมูล เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือแล้ว คือ “เทศบาลเมืองตราด” ต้องได้พัฒนาศักยภาพบุคลากร ที่สามารถเชื่อมต่อห่วงโซ่ความรู้ ในการพัฒนาท้องถิ่น ของดี ที่เด่น คนดัง พร้อมสร้างเด็กเยาวชนกลุ่มรักบ้านเกิด ให้เป็น “เจ้าบ้านน้อย” รับแขกบ้านเมืองได้

เพราะที่นี่มี “ที่เด่น” อย่าง “พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด” ซึ่งเดิมเป็นศาลากลางจังหวัดหลังเก่า สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 สถาปัตยกรรมเป็นอาคารไม้สักทองทั้งหลัง โดยเมื่อปี พ.ศ. 2539 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนศาลากลางหลังเก่าให้เป็นโบราณสถานของชาติ ต่อมาปี พ.ศ. 2547 อาคารหลังนี้ถูกไฟไหม้เสียหายเกือบทั้งหมด ทางเทศบาลเมืองตราด ได้จัดสรรงบประมาณให้กับกรมศิลปากร เพื่อบูรณะอาคารตามรูปแบบเดิม แล้วเสร็จในอีก 2 ปีต่อมา และกรมศิลปากร ได้ใช้งบประมาณของตัวเองเพื่อปรับปรุงภายในอาคารให้เป็น “พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด” แล้วเสร็จ จึงส่งมอบให้เทศบาลเมืองตราด เมื่อ พ.ศ. 2556 โดยให้ เทศบาลเมืองตราด เป็นผู้บริหารจัดการดูแล จัดแสดงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองตราด เหตุการณ์สำคัญ และชีวิตวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของ จ.ตราด

“ของดี” ที่คณะได้เรียนรู้ คือเสน่ห์ของเมืองตราด  (1) “ผลไม้รสเลิศ” ที่สร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือน อย่าง “สับปะรดตราดสีทอง” เป็นพันธุ์สับปะรดพื้นเมือง เมื่อเวลาผลสุกจะมีสีเหลืองทอง กรอบ อร่อย และเมื่อสุกงอมเต็มที่ไม่มีลักษณะฉ่ำเหมือนสับปะรดอื่น  และ “ระกำหวาน” ด้วยสภาพพื้นที่ที่มีฝนตกชุกเกือบตลอดทั้งปี และลักษณะอากาศ จึงเหมาะกับการเจริญเติบโตของระกำ ซึ่งมักขึ้นเองตามธรรมชาติในที่ๆมีความชื้นสูง โดยผลระกำที่ยังไม่สุกเต็มที่จะมีรสเปรี้ยว นิยมใช้ปรุงอาหารแทนมะนาว เมื่อผลแก่จะหวานหอมมาก

(2) ทะเลตราด ที่ อ.แหลมงอบ ซึ่งถือเป็นประตูสู่หมู่เกาะทะเลตราด มีท่าเทียบเรือขนาดใหญ่หลายแห่ง สำหรับข้ามไปยังหมู่เกาะต่าง ๆ และมี “หาดทรายดำ” ลักษณะเด่นของชายหาดแห่งนี้คือ มีทรายสีดำ ที่เกิดจากการย่อยสลายของเปลือกหอย การผุกร่อนของแร่เหล็ก ซึ่งพบเพียง 6 แห่งในโลก

(3) การจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เช่น เครื่องถ้วย กลองมโหระทึก พระแสงราชศัสตราประจำเมืองตราด และเครื่องมือเครื่องใช้พื้นเมืองของชาวตราด

(4) ผู้คนเมืองตราด ที่มีหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เนื่องจาก จ.ตราด เป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในแถบชายฝั่งทะเลตะวันออก มาแต่อดีต ที่นี่จึงเป็นแหล่งติดต่อค้าขายของผู้คน เช่น ชาวมุสลิมเชื้อสายเขมร ชาวญวน และชาวชอง ทำให้ คนในพื้นที่ จ.ตราด มีชีวิตความเป็นอยู่ที่กลมกลืนทั้งด้านวัฒนธรรม ประเพณี และภาษา จนทำให้สำเนียงการพูดของคนเมืองตราดแตกต่างไปจากคนไทยภาคกลาง เป็นภาษาที่พูดด้วยคำหนักห้วนจนเกือบกระด้างไป

(5) ทรัพยากรจากป่า สินค้าพื้นเมืองสำคัญ

ของเมืองตราด สมัยต้นรัตนโกสินทร์ อย่าง ถุงบรรจุภัณฑ์ ตะเกียงโบราณ กระวาน ไม้กฤกษณา ไม้จันทร์แเดง รงเขมร พริกไทย กำยาน และผลผลิตอันมีค่าอีกหนึ่ง คือ บันทึกของบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ผู้ออกเดินทางสำรวจชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทย รวมทั้งเมืองตราค ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเรียก เมืองตราด ว่า “เมืองทุ่งใหญ่” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอุคมสมบูรณ์ของทรัพยากรจากป่า อาชีพ และสินค้าสำคัญของเมืองตราดในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

(6) จดหมายเหตุว่าด้วยเรื่อง “อิสรภาพที่แท้จริงของชาวเมืองตราด” นับตั้งแต่ฝรั่งเศสยึดเมืองตราด เมืองตราดภายใต้การครอบครองฝรั่งเศส ฝรั่งเศสคืนเมืองตราด และพิธีรับมอบเมืองตราด

และ (7) เดินทางลงพื้นที่จริงตามรอยประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ที่ วัดบุปผาราม ศูนย์กลางประวัติศาสตร์เมืองตราด และเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุด เพราะปรากฎหลักฐานการสร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา ภายในวัดนั้น มีสถาปัตยกรรม ที่สะท้อนภาพประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมในอดีต อย่าง หอพระพุทธบาท อุโบสถ วิหาร อายุนับร้อยปี

และ (8) ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองตราด ศูนย์รวมจิตใจทั้งชาวไทยและชาวจีนในเมืองตราด มาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คนพื้นที่เชื่อกันว่า เสาหลักเมืองภายในศาล สร้างขึ้นคราวเดียวกับการสร้างวัดโยธานิมิต เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยังเป็นพระยาวชิรปราการ เดินทางมารวบรวมไพร่พล เพื่อกู้ชาติที่เมืองตราด และยังมีสิ่งสำคัญที่ตั้งคู่กับเสาหลักเมือง คือ ศิวลึงค์ศิลา สร้างขึ้นตามคติในศาสนาฮินดู มีความเชื่อแต่โบราณว่าช่วยเรื่องสุขภาพ และพบเห็นมากในในพื้นที่ ต.ห้วยแร้ง อ.เมืองตราด

อนึ่ง เพื่อพลิกโฉมเมืองด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) บริษัท  AI & Robotics Ventures (ARV) และมหาวิทยาลัยบูรพาต่างร่วมใจทำงานอย่างใกล้ชิดกับเทศบาลเมืองตราด เพื่อให้มาซึ่งแพลตฟอร์มกลาง ที่ทางเทศบาลเมืองตราด สามารถปรับเปลี่ยนหน้าตาของระบบ หรือองค์ประกอบได้ตามความต้องการ หรือสามารถส่งความต้องการการปรับปรุงแฟลตฟอร์มไปยังทาง AI & Robotics Ventures (ARV) โดยตรง เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการในทันที และในอนาคตแฟลตฟอร์มนี้ ภายใต้ บพท.จะมีส่วนในการพัฒนาและพลิกโฉมเทศบาลให้เข้าสู่เทศบาลดิจิทัล และจะเป็นอีกส่วนที่จะกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศได้