บพท. พมส. และทีม facilitator จาก ม.อ.ร่วมประชุมหารือการดำเนินโครงการฯ ของ ทต.เกาะแต้ว ทต.บ้านนา และทม.สะเดา หลังได้รับทุนอุดหนุนงานวิจัย

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) และทีม facilitator จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงพื้นที่ภาคใต้เข้าพบนักวิจัย ของเทศบาลตำบลเกาะแต้ว เทศบาลตำบลบ้านนา และเทศบาลเมืองสะเดา เพื่อร่วมประชุมหารือการดำเนินโครงการฯ หลังได้รับทุนอุดหนุนงานวิจัย   

วันที่ 26-27 กรกฎาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ (ฝ่าย 3) และ รศ.ดร.ฉวีวรรณ เด่นไพบูลย์ กรรมการพิจารณาติดตาม และประเมินผลฯ พร้อมด้วยนักวิจัยคณะทำงานหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) โดย ดร. ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ที่ปรึกษามูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางสาวทองเล็ก ปาตังกะโร เลขานุการมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายภัทรพล ขวัญสุด นักวิจัยโครงการฯ และเครือข่ายทีม facilitator จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้าพบนักวิจัย เทศบาลตำบลเกาะแต้ว เทศบาลตำบลบ้านนา และเทศบาลเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา เพื่อหารือการดำเนินโครงการวิจัยการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ ร่วมกับนักวิจัย รวมถึงฝ่ายต่าง ๆ และภาคีที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับกระบวนการวิจัย เพื่อเตรียมความพร้อมคนทำงาน สร้างการเปลี่ยนแปลง ซักซ้อมความเข้าใจ และตอบประเด็นซักถามและข้อหารือในประเด็นต่าง ก่อนการลงมือปฏิบัติการวิจัยด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง

          สาระโดยสังเขปของการหารือกับ เทศบาลตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา คือ การทำฐานข้อมูลเมือง ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ กระบวนการเขียนรายงานการวิจัย การทำบัญชี การต่อยอดจากข้อมูลที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ให้กลายเป็นสินทรัพย์ โดยในตอนท้ายของการประชุม นายฤทธี กุลอภิรักษ์ ปลัดเทศบาลตำบาลเกาะแต้ว ได้กล่าวว่า “ในการลงมือปฏิบัติสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ข้อมูล และการร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทั้งด้านผู้นำและบุคลากรของเทศบาลตำบลเกาะแต้วนั้น พร้อมที่จะเรียนรู้ และให้ความร่วมมือเพื่อพลิกโฉมเทศบาลตำบลเกาะแต้วนั้นสู่โลกดิจิทัล

          สำหรับวันที่สอง (วันที่ 27 กรกฎาคม 2566) ของการลงพื้นที่ครั้งนี้ ถือเป็นติดตามความก้าวหน้างานวิจัย คือพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านนา จังหวัดสงขลา ซึ่งทางเทศบาลมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นการพัฒนาฐานข้อมูลกลางในด้านข้อมูลโครงสร้างพื้นฐาน โดยในวันดังกล่าวนั้น นายฮ่าหรน หมันหลอ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านนา และบุคลากร ได้ให้เกียรติมาต้อนรับนักวิจัย และร่วมอภิปรายแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง และกล่าวถึงการพัฒนาเทศบาลตำบลบ้านนา ให้เป็น Smart city การให้บริการประชาชนที่เข้ามาติดต่อเรื่องต่างๆสามารถเข้าถึงได้ง่าย และมีหลากหลายช่องทางให้เลือกรับบริการ และยังกล่าวปิดท้ายไว้ว่า การมีข้อมูลต่างๆ นั้นเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยในการพัฒนาเทศบาลตำบลบ้านนาให้ก้าวสู่โลกดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ภายหลังจากการพูดคุย ทางหลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 ภายใต้โครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ ของมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ยังได้ขอให้ นายฮ่าหรน หมันหลอ ถ่ายทอดวิสัยทัศน์การบริหารให้เป็นรูปธรรม พร้อมโชว์จุดเน้นของเทศบาล ที่ว่า คุณมีปัญหาอะไรเราสามารถช่วยเหลือคุณได้ทันที แค่คุณสแกนคิวอาร์โค้ด ส่งเรื่องมาหาเรา “จิ้ม แจ้ง จบ แค่นิ้วเขี่ยเคลียร์ทุกปัญหา #เทศบาลตำบลบ้านนาเรายินดีบริการ

อันมีใจความโดยสังเขปดังนี้

          “ผมอยู่ในท้องถิ่นมาตั้งแต่ปี 2538 รุ่นแรกเลย แล้วผมว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเนี่ย เป็นองค์กรของรัฐที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด น่าจะเข้าใจปัญหาประชาชนมากที่สุด และผมมอบนโยบายไว้อย่างนี้ว่า “ทุกเรื่องที่ประชาชนเดือดร้อน  ถ้าเป็นอํานาจหน้าที่ของเทศบาล เราสามารถดําเนินการได้ เราดําเนินการทันที แต่ถ้าเดือดร้อนในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับ อํานาจหน้าที่ของเทศบาลเราเป็นตัวประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจะได้ตอบสนองปัญหาของประชาชนจริงๆ” และผมก็ให้คําขวัญกับทุกกองในเทศบาลตําบลบ้านนานี้ว่า  “สํานักปลัดสร้างสุข กองกลางสร้างทรัพย์ กองช่างสร้างเมือง กองการศึกษาสร้างคุณธรรม เป็นโยบายหลัก” แล้วทีนี้ก็ ไปแปลกัน ไปทํากันตามนั้นเลย

          ผมเชื่อว่าถ้าเทศบาลเป็นที่พึ่งของประชาชน เราก็สามารถคลี่คลาย แล้วก็แบ่งเบาภาระของรัฐบาลกลางได้ด้วย เพราะว่าผมคิดว่าทํายังไงก็ได้ให้ชาวบ้านมีความสุข แต่เรื่องระบบก็ต้องว่าไป อย่างมาทําเรื่อง smart city เป็นเรื่องหนึ่งที่เราคิดว่าให้ชาวบ้านจะเข้ามาติดต่อประสานงานกับเทศบาลได้ง่ายที่สุด ช่องทางไหนก็ได้ บางคนเขาไม่อยากเดินท่งมา บางคนเขาไม่เข้าใจ ตัวอย่าง “แค่เรื่อง 191 บอกให้โทรไปเรื่องแก้ไขปัญหายาเสพติด ชาวบ้านยังไม่กล้าโทร” ต้องเข้าใจนะว่าชนบทกับเมืองหลวงน่ะ (ในเมือง) มันไม่เหมือนกัน คนในชนบทส่วนหนึ่งยังกลัวระบบราชการ ยังกลัวตํารวจ ยังกลัวโรงพยาบาล ยังกลัวการประสานงานทุกเรื่อง สมัยผมเป็นสมาชิก อบต.ใหม่ๆ ขนาดไปโรงพยาบาลต้องรอ อบต. ครับ และถ้า อบต. ไม่ว่าง แต่พรุ่งนี้ก็ได้ นั่นคือความเป็นจริง ในบริบทของชนบท “ผมก็เลยอยู่ในวงการนี้ อยู่รับรู้ปัญหามาตลอด ก็พยายามจะสนองความต้องการให้มากที่สุด ในฐานะผู้บริหาร ก็แล้วแต่ประชาชน ถ้าเขาเลือกต่อก็ทำต่อ ถ้าเขาไม่เลือกต่อก็หยุด หน้าที่ผมแค่นั้น”

          อย่าง ชาวบ้านประสบปัญหาเรื่อง มรดก แล้วเขาประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้รับการตอบสนองที่ทันท่วงที คือช้า คือเรื่องของมรดกตามหลักศาสนาอิสลามในพื้นที่ศาลจังหวัด 4 อําเภอ เราใช้คณะกรรมการอิสระประจําจังหวัด เป็นคนดําเนินการ และก่อนที่จะเข้ากระบวนการศาลที่นี้ ต้องไปที่สํานักงานคณะกรรมการอิสลามประจําจังหวัด แล้วชาวบ้านก็ไม่ได้รับคําตอบ ซึ่งใช้เวลาพอสมควร “สุดท้ายเขาก็มาหาเรา บอกว่าเขาเลือกนายก เขาเลือก สท. เขาก็มาปรึกษาได้ใช่ไหมครับ ผมว่ามาเลย” พอมาปุ๊บผมก็ให้คุยกับนิติกร เล่าเหตุการณ์ความเป็นไปให้นิติกรฟัง และทําหนังสือจากเทศบาลเนี่ย ไปสํานักงานคณะกรรมการอิสลามประจําจังหวัด พอเขาเห็นหนังสือของเทศบาลเป็นผู้ประสานงาน เขาต้อนรับและเขาดูแลผู้ดําเนินการใช้เวลาเพียง 15 วัน ทุกอย่างจบ นิดเดียว เพราะเราถือว่าไม่ใช่หน้าที่โดยเปล่าเฉย ๆ ที่ให้คุณไปติดต่อสํานักงานคณะกรรมการอิสลามเอง แต่ปัญหาการแบ่งมรดก อาจนําไปสู่ปัญหาอื่นๆ  อาจจะมีการขัดแย้งกัน ทะเลาะกัน ฆ่ากันตายก็มี “เราผมก็เลยบอกนิติกรช่วยหน่อย พาไปสํานักงานคณะกรรมการอิสลามทําหนังสือ คล้ายศูนย์ดํารงธรรม คือผมจะบริการ ผมอยากบริการ ลองทําหนังสือนําไปเลย พาไป เขาก็ดําเนินการ เขาลงรับอะไรเร็ว คือถ้าชาวบ้านไป เขาตอบยังไงก็แล้วแต่ กลับมาเงียบ ถ้าไม่ตามก็จบ อาทิตย์นึงก็ไม่จบ”

          ผมยกตัวอย่างคลิปอีกเรื่อง เรื่องมรดกนี่แหละ คือมีบ้านหลังหนึ่งอยู่ท้ายซอย ซอยนี้แคบมาก ความกว้างของซอยผมว่าประมาณ 2 เมตรครึ่ง แต่เขาทำอาชีพวงกบประตู ขนไม้เข้าโดยใช้มอเตอร์ไซค์แล้วไปทะเลาะกับคนปากซอย ทะเลาะกันบนปากซอยเสร็จ คนปากซอยก็รําคาญจะขอสร้างกำแพง เพราะถ้าสร้างกําแพงก็จะใช้รถมอเตอร์ไซค์ขนไม้เข้าซอยไม่ได้ สร้างกําแพงไม่ได้ สร้างขวางถนนแต่มันจะชิดถนน เพื่อไม่ให้คนนั้นเอาไม้เข้าไปในซอย “ทะเลาะกันก็มาหาผม” มาถึงผม “บอกให้ช่วยผมหน่อย” ผมบอก “คุณจะไปห้ามเขาสร้างกําแพงไม่ได้เพราะเป็นสิทธิของเขา ปลูกสร้างได้ แต่มีกติกา กฎหมาย พ. ร. บ. ควบคุมอาคาร ผมไม่ว่าอะไรหรอก แต่ถ้ามีการร้องเรียน 1.คุณต้องรื้อ 2.คุณอายคน เสียเงินด้วย เสียเงินค่าวัสดุ สรุปก็ไม่ได้สร้าง” ตอนนั้นยังไม่เป็นนายกเป็น อบต. อยู่ เป็นสมาชิกอยู่ อบต. “นี่คือเทคนิคเล็ก ๆ  เราอยู่ในชุมชน เรารู้ปัญหา เรารู้ข้อมูล” พอมาเป็นนายกเทศมนตรี “ผมเชื่อว่ามันมีหลายอีกหลายเรื่อง บางทีใช้กฎหมายบ้าง ใช้เทคนิคเล็กๆน้อยๆ โกหกบ้าง แต่โกหกเพื่อแก้ปัญหาก็ไม่เป็นไร ไม่ได้เสียหายอะไรหรอก แต่ที่คณะทำงานที่เทศบาลตำบลบ้านนา เขาเข้าใจสิ่งที่ผมคิด เข้าใจบริบท ก็เลยทำงานกันง่าย ก็สนุกดีครับ คิดตรงกัน” บางครั้งส่วนกลาง ให้งบประมาณจํากัดมา เราประหยัดที่สุดแล้ว ประหยัดจนทําให้บางเรื่อง ไม่จําเป็นต้องใช้งบประมาณเลย ก็สามารถทําได้แต่ถ้าไม่มีเลย มันก็ทําให้เราช้าลงเท่านั้นเอง การพัฒนาท้องถิ่นเรา ผมไม่ได้คิดตัวผมนะ

          มีข้อด้อยอยู่อีกนิดหนึ่ง แต่ละกองมีข้อมูลส่วนตัวของกอง อย่างทำเรื่องทะเบียนผู้สูงอายุ ทำมา 7 ปี ไม่บอกใครเลย ใครก็ไม่รู้  กองช่างมีข้อมูลของกองช่างเก็บไว้เงียบ ไม่มีใครรู้เลย ผมถามว่าเมื่อคนใหม่ย้ายมา ปลัดจะเอาอะไรมาบริหาร เราต้องอาศัยข้อมูล ถ้า นายก ปลัด โอเค พอสอบถามนู่นนี่นั่นนี่ได้ แต่ถ้ามีนายกคนใหม่มา แล้วเขาไม่อยู่ในพื้นที่ แล้วถ้าเขาถาม แล้วบอกว่ารองนายกไม่มีพื้นฐานเรื่องนี้เลย  ถ้าไม่มีข้อมูลก็บริหารงานไม่ได้ “มันต้องบริหารบนพื้นฐานของข้อมูล เพราะฉะนั้นผมก็เลยคุยกับทุกส่วน ปลัดพยายามรวบรวมว่าเราต้องเตรียมการให้คนอื่นมาเป็นนายก” อย่างข้อมูลคนไข้ติดเตียง เรื่องผู้ยากไร้ทั้งหมด มันต้องเป็นข้อมูลกลาง ซึ่งนายกคนมาใหม่ เขาสามารถดําเนินการได้เลย “ไม่ใช่ว่ามานับหนึ่งใหม่ เลยจําเป็นต้องทําจัดเก็บข้อมูลให้มากที่สุดให้เร็วที่สุดเพื่อนายกคนใหม่เข้ามา สามารถทํางานได้ทันที ไม่ใช่ว่าต้องมาเรียนรู้งานอยู่2 ปี พอเข้าใจงานก็จะหมดวาระแล้ว ก็เลยบอกเรื่องข้อมูลเรื่องสําคัญ ตอนนี้กำลังพยายามอยู่”

          ตอนนี้เราทำ Smart City ก็เพื่อการประสานงาน ผมมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า “ถ้าทุกคนเข้าใจตรงกัน ทุกอย่างมันจะง่าย คือเข้าใจตรงกันก่อน คืออย่าเอาเฉพาะข้าราชการ นายกเข้าใจเฉพาะนายกมันก็ไปไม่ได้ ทีนี้ชาวบ้าน ต้องเข้าใจเหมือนกับเราให้มากที่สุด” ก็ใช้วิธีการสื่อสาร ผมก็เคยหาวิธีการสื่อสารที่เข้าใจที่สุด เห็นมั้ยวันนี้ผมลงโพสต์ เรื่องขออนุญาตก่อสร้างใช้เป็นภาษาชาวบ้าน ถ้าใช้ภาษาราชการชาวบ้านอ่านไม่เข้าใจน่ะ อย่าว่าแต่ชาวบ้านเลย ผมเองก็ยังไม่เข้าใจก็ต้องมาตีความ อันนี้มันเป็นอะไรยังไง อันนี้มันเป็นยังไง “ผมก็เลยใช้ภาษาชาวบ้านชาวบ้านเข้าใจว่า คุณมาขออนุญาตก่อสร้าง คุณจะสร้างบ้านหลังหนึ่ง คุณต้องทําอะไรบ้าง สเต็ปแรก คุณมหาเทศบาลก่อนเลย มาปรึกษากับช่าง ไม่มีค่าใช้จ่ายเขียนตัวใหญ่ๆเลยเนอะ (ไม่มีค่าใช้จ่าย ฟรี)” อ่า ปรึกษาไงว่าถ้าสร้างตรงนี้ คุณต้องทําอะไรบ้าง ต้องถมที่ไหม ถ้าถมที่ถมอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย  ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้าง ไม่ไปสร้างทับที่ทางระบายน้ำ คงต้องมาปรึกษาก่อน  และเอกสารอะไรที่คุณต้องเตรียม 1-2-3 ว่ามา ไม่มีค่าใช้จ่าย “เน้นคําว่าไม่มีค่าใช้จ่าย” ถ้าที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เราก็บอกว่าค่าใช้จ่าย หลักมันอยู่ตรงนี้ ค่าอะไรบ้าง ค่าใบอนุญาตเท่าไหร่ 20 บาทเอง

         ผมเข้าใจชาวบ้านครับ เวลาจะเข้ามาหาหน่วยงานราชการ เขาคิดเรื่องแรกเลย เสียค่าใช้จ่ายเยอะ หาไม่ทันอะไรประมาณนี้ ผมก็เลยเน้นครับว่า ไม่มีค่าใช้จ่ายและค่าใช้จ่ายใบอนุญาต แค่ยี่สิบบาทถ้าเขารู้ว่า 20 บาท เขาไม่กลัวหรอกแต่ที่เขากังวล คือเขากลัวต้องจ่าย 2,000-3,000 บาท ถูกไหม? เขาคอมเมนต์ว่าค่าใช้จ่ายแค่ 20 บาท ผมก็โพสต์ให้ชาวบ้านดูว่า ค่าใช้จ่ายแค่ 20 บาท ทําให้เขาเข้าใจเหมือนกับเราเข้าใจ และเราจะเดินหน้าสื่อทาง Facebook ผม และทาง Facebook ของเทศบาลบ้าง อย่าง เมื่อวานก็รับเรื่องที่สร้างบ้านไม่สามารถอนุญาตได้ ผมอธิบายเขาเข้าใจ เขายินดีรื้อ “เราอย่าบังคับใช้กฎหมาย เราไปทําความเข้าใจดีกว่า” ผมบอกว่า ผมไม่อยากให้คุณรื้อหรอก แต่ปัญหาก็คือ ก่อนที่คุณจะสร้าง ถ้าคุณมาคุยกันก่อนน่ะ คุณจะไม่เกิดปัญหานี้ แต่ถ้าคุณทราบไปแล้ว ผมก็ไม่อยากให้คุณเสียค่าใช้จ่าย แต่มันจําเป็นนั่นแหละ ที่ต้องรื้อบางส่วน ไม่ใช่รื้อหมดรื้อนิดนิดหน่อยเพื่อให้อยู่กันได้ “ผมคุยแบบเนี้ยผมใช้ เล่นบ้างจริงบ้างแต่ผมใช้ความสนิท ความเป็นญาติพี่น้อง ความมั่นใจเราดูแลชาวบ้าน้สมือนครอบครัว””

          และปิดท้ายการลงพื้นที่ภาคใต้ ที่เทศบาลเมืองสะเดา ซึ่งมีเป้าหมายที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเทศบาล โดยในวันดังกล่าว นายวัชชพล ปริสุทธิ์กุล นายกเทศมนตรีเมืองสะเดา นำทีมบุคลากรของเทศบาล ร่วมซักซ้อมเพื่อสร้างความเข้าใจ และขอหารือในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองพร้อมกล่าวว่า ทางเทศบาลเมืองสะเดาพร้อมที่จะเก็บข้อมูล สนับสนุนการรวบรวม และจัดเก็บ พร้อมเรียนรู้ไปกับทีมที่ปรึกษา อนึ่ง เพื่อพลิกโฉมเมือง ด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) เนื่องจากแต่ละพื้นที่ในมีบริบทต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้นในแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองนี้ สามารถปรับเปลี่ยนหน้าตาของระบบ หรือองค์ประกอบได้ตามความต้องการ ของแต่ละพื้นที่ได้ เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการในทันที และในอนาคตแฟลตฟอร์มนี้ ภายใต้ บพท.จะมีส่วนในการพัฒนาและพลิกโฉมเทศบาลให้เข้าสู่เทศบาลดิจิทัล และจะเป็นอีกส่วนที่จะกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศได้

เทศบาลตำบลเกาะแต้ว

เทศบาลตำบลบ้านนา

เทศบาลเมืองสะเดา