พมส. ร่วมมือกับ คณะนิติศาสตร์ มข. ทำโครงการพัฒนา “ต้นกล้า นิติพัฒนาเมือง”
หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) ประสานความร่วมมือกับ คณะนิติศาสตร์ มข. ทำโครงการพัฒนา “ต้นกล้า นิติพัฒนาเมือง” หวังสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความสัมพันธ์ ทั้งในมิติทางกฎหมาย และมิติของการพัฒนาเมือง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะเป็นองคาพยพหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น จัดโครงการ พัฒนา “ต้นกล้า นิติพัฒนาเมือง” ในระหว่างวันที่ 13, 20, 27 กันยายน 2566 โดยประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการส่งเสริมเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง(เคเคทีที) จำกัด เทศบาลนครขอนแก่น และพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์จังหวัดขอนแก่น ร่วมกันจัดห้องเรียนที่มีชีวิต (Living Lab) ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติการจริงในการพัฒนาเมืองขอนแก่น หรือที่เรียกว่า “ขอนแก่นโมเดล”
โครงการนี้มีเป้าประสงค์ที่สำคัญในการพัฒนานักศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจทั้งในมิติทางกฎหมาย และมิติของการพัฒนาเมือง และที่สำคัญได้เล็งเห็นความสัมพันธ์ระหว่างมุมมองทางกฎหมายและมิติของการพัฒนาเมือง ว่าสองส่วนนี้จะเกื้อหนุนหรือสนับสนุนการพัฒนาเมืองได้อย่างไร โดยในวันที่ 13 กันยายน 2566 ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.รวี หาญเผชิญ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองและผังเมือง ที่ปรึกษาบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง(เคเคทีที) จำกัด บรรยายเรื่อง “ขอนแก่นโมเดล” วิถีการสร้างเมืองอัจฉริยะตามแบบฉบับของคนขอนแก่น และการเสวนา “ในฐานะนักกฎหมายมหาชนท่านจะนำความรู้ด้านกฎหมาย มาขับเคลื่อนพัฒนาเมือง หรือทลายข้อติดขัดได้อย่างไร” โดย รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ (ฝ่าย 3) รศ.ดร.รวี หาญเผชิญ อาจารย์อัษฎาวุธ วสนาท และ อาจารย์ณัฐวรรณ อารัมภ์วิโรจน์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นอกจากนี้นักศึกษายังได้ลงพื้นที่ ห้องปฏิบัติการมีชีวิต “หม่องเฮียนฮู้” ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้รับเกียรติจาก คุณสิรีธร จารุธัญลักษณ์ คุณจิราภรณ์ พินนาพิเชษฐ และคุณปภาภัทร ณ พัทลุง ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนเศรษฐกิจการเงินภาค เป็นผู้บรรยายให้ความรู้ในการด้านพัฒนาการด้านเศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การร่วมขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ การวางแผนด้านการเงิน และการให้บริการคลินิกแก้หนี้ จากธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับภูมิภาค พร้อมทั้งเยี่ยมชม “หม่องเฮียนฮู้” ห้องสมุดมีชีวิต เพื่อเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน พร้อมการให้บริการห้องสมุดในรูปแบบ Hibrary และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการมีชีวิต “Smart City Operation Center” ศูนย์กลางการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของจังหวัดขอนแก่นอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้ระบบ Internet Of Things (IOT) และระบบ Cloud Based ในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเมือง และพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น การเปลี่ยนพื้นที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่หมดสัญญาเช่า เป็นพื้นที่ที่บอกเล่าเรื่องราวการพัฒนาการด้านเศรษฐกิจของชาวขอนแก่น และเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ใจกลางเมือง โดยมีนักศึกษาเข้าร่วม โครงการพัฒนา “นิติ ต้นกล้าพัฒนาเมือง” ในวันนี้กว่า 200 คน