หลักสูตร พมส. ลงพื้นที่ภาคเหนือ ประชุมติดตามการจัดทำรายงานการวิจัยปฏิบัติการพัฒนาเมืองของเทศบาลที่ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัย

หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) ลงพื้นที่ภาคเหนือ ประชุมติดตามการจัดทำรายงานการวิจัยปฏิบัติการพัฒนาเมืองของเทศบาลตำบลบ้านกลางเทศบาลตำบลเกาะคา จ.ลำปาง และเทศบาลเมืองลำพูน จ.ลำพูน หลังได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัย

ด้วย “การประชุม” เป็นกระบวนการหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญขององค์กร ทั้ง ภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งภาคประชาชน หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) ภายใต้โครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ ของมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยมี นายอุดร ตันติสุนทร ผู้ก่อตั้งมูลนิธสิ่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยของหน่วยบริหารและจัดการทุนเด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ประจำปีงบประมาณ 2565 นั้น จึงได้กำหนดจัดการประชุมติดตามการจัดทำรายงานการวิจัยปฏิบัติการพัฒนาเมืองของเทศบาลที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยในพื้นที่ภาคเหนือ อันประกอบด้วย เทศบาลตำบลบ้านกลาง เทศบาลตำบลเกาะคา จ.ลำปาง และเทศบาลเมืองลำพูน จ.ลำพูน ขึ้นในระหว่างวันที่ 4-5 ตุลาคม 2566 ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นพบปะปรึกษาหารือกันเพื่อแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น และลงเป็นมติ เพื่อนำมติในการปรับตัวรายงาน คือปรับจาก กระบวนการ Digitizing  Analog สู่  Digitalization และก้าวสู่  Digital Transformation ไปปฏิบัติต่อไป

โดยวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ณ พื้นที่เทศบาลตำบลเกาะคา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือการใช้ข้อมูลดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเมือง City Digital Data Platform (CDDP) และได้รับเกียรติจาก นางสาวเพ็ญภัค รัตนคำฟู นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเกาะคา และผู้บริหารจากเทศบาลตำบลเกาะคา ร่วมให้การต้อนรับ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้ทรงคุณวุฒิหน่วยบริหารและจัดการทุนเด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ผศ.ดร.ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ที่ปรึกษามูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ ผศ.รัชดาพร หวลอารมณ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พร้อมเล่าว่าเทศบาลตำบลเกาะคา ได้ดำเนินการโครงการนำร่องเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอัจฉริยะ ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลของประชากรในพื้นที่ทั้ง 2,000 ครัวเรือนแล้ว

ด้าน รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ได้ให้คำแนะนำการสำรวจเพิ่มเติม โดยเลือกสำรวจปัญหาที่สำคัญเร่งด่วน ต้องการแก้ปัญหาก่อน เช่น จำนวนผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง แม่เลี้ยงเดี่ยวในพื้นที่ สินทรัพย์เพื่อการยังชีพ โดยใช้จำนวนคำถามไม่มากเกินไป การสำรวจควรทำในระดับครัวเรือน แล้วจึงสอบถามข้อมูลรายบุคคลจากตัวแทนของครัวเรือน หลีกเลี่ยงการใช้คำถามที่ก่อให้เกิดความสับสน ในการสำรวจควรใช้ฐานข้อมูลเดิมในทะเบียนราษฎร์ตั้งต้น ข้อมูลที่ต้องการสำรวจเพื่ออัพเดท และมุ่งเป้า เช่น จำนวนผู้ป่วยติดเตียงสีแดงอยู่จุดใด มีผู้ดูแลหรือไม่ หากไม่มีจะจัดระบบการดูแลจากเทศบาลอย่างไร ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ติดบ้าน ติดสังคม เพื่อจะได้จัดกิจกรรม จัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะต่อไป

โดย นางสาวเพ็ญภัค รัตนคำฟู นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเกาะคา กล่าวว่า “การจะเป็นเมืองน่าอยู่ ส่วนสำคัญ คือมีฐานข้อมูลที่ใช้ได้จริง ถูกต้อง การสร้างเมืองน่าอยู่ โดยใช้ข้อมูล การวางแผนเมืองร่วมกัน ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วม ต้องอาศัยคนในเมืองมาคิดร่วมกัน เกิดความร่วมมือร่วมใจสำนึกรักท้องถิ่น เทศบาลตำบลเกาะคาได้รับทุนวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอัจฉริยะซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวด้านเศรษฐกิจ สังคม การวางแผนทิศทางเมืองในอนาคตโดยใช้ข้อมูลจะเป็นการ “นับ 1 กระทบ 10” เกิดแรงบันดาลใจ ในการใช้ข้อมูลเมืองพัฒนาเมือง จะทำอย่างไรให้เมืองไปถึงชุมชน ชุมชนเข้าถึงเทศบาล คือโจทย์สำคัญ”

ต่อเนื่องที่พื้นที่เทศบาลตำบลบ้านกลาง จ.ลำพูน โดยมี นายสอน อิ่นแก้ว นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลบ้านกลาง พร้อมด้วย นายอภิชาติ เทพชา ปลัดเทศบาล นางอุไรลักษณ์ เรือนสิงห์ รองปลัดเทศบาล นางสาวนุชรี สายแสน ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และงบประมาณ และผู้บริหารจากเทศบาลตำบลบ้านกลาง ร่วมให้การต้อนรับ และประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันในครั้งนี้

นายสอน อิ่นแก้ว นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านกลาง เล่าว่า “ชาวบ้านเข้ามาร้องเรียนว่าขอให้สร้างถนนมาหลายครั้งแล้ว ยังไม่มีการดำเนินการ การใช้ข้อมูลดิจิทัลสามารถแก้ปัญหาเห็นข้อมูลได้โดยไม่ต้องลงพื้นที่ น้ำท่วมลงพื้นที่ไม่ได้ก็มีข้อมูลที่แม่นยำ เห็นชื่อเจ้าของโฉนดผู้ได้รับผลกระทบ สามารถแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว โดยยังไม่ต้องลงพื้นที่”

นายอภิชาติ เทพชา ปลัดเทศบาลตำบลบ้านกลาง กล่าวว่า “การทำโครงการนี้สามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานของเทศบาลได้มาก การทำโครงการ ทำถนน สามารถใช้ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลประมวลผลข้อมูลออกมาได้ ถนนขรุขระ ไฟไม่ติด สามารถเห็นข้อมูลโดยไม่ต้องลงสำรวจพื้นที่ ทุกคนเห็นภาพร่วมกัน บริการชาวบ้านได้ตรงใจ ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดปัญหาเรื่องเอกสาร หาข้อมูลไม่พบ โดยในขณะนี้งานสารบัญกำลังพัฒนาแพลตฟอร์มร่วมกับ บริษัท Bedrock ให้เหมือนการเสนอแฟ้มเอกสาร อยู่นอกสถานที่ก็สามารถเกษียณหนังสือได้ สามารถสืบค้นข้อมูลผ่านระบบได้ และกำลังนำข้อมูลจากทุกส่วนงานเข้า City Digital Data Platform เทศบาลอยู่ระหว่างจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการงานบริการสาธารณะ แพลตฟอร์มที่แต่ละส่วนงานต้องการ เพื่อตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน การใช้ข้อมูลดิจิทัลประกอบการเขียนโครงการในแผนพัฒนาท้องถิ่นก็จะเขียนจากความต้องการและการประเมินผลโครงการที่เคยดำเนินการจากชาวบ้าน

นางสาวนุชรี สายแสน ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และงบประมาณ ได้นำเสนอการใช้งานระบบ City Digital Data โดยเป็นข้อมูลในส่วนของ 1. การจัดการทรัพย์สิน 2.การซ่อมบำรุง 3.แดชบอร์ดสรุปข้อมูล โดยสามารถเรียกดูข้อมูลจากแผนที่ในระบบซึ่งระบุข้อมูลรายครัวเรือน สามารถเพิ่มข้อมูลที่ต้องการ เช่น จำนวนคนสูงอายุในบ้าน ผู้ป่วยติดเตียง สำหรับระบบการจัดการทรัพย์สินหากได้รับแจ้งการซ่อมบำรุงก็สามารถดูข้อมูลอะไหล่จากระบบ และซ่อมบำรุงได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีระบบการร้องทุกข์ ทั้งผ่านทาง CDDP Line และ Traffy Fondue โดยการร้องทุกข์จากทุกระบบจะเข้าไปอยู่ใน CDDP เพื่อเทศบาลจะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา

นอกจากนี้ ปลัดเทศบาล อภิชาติ เทพชา ยังได้เสริมเรื่องการเข้าถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มของกลุ่มผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน เช่นผู้สูงอายุ ก็ร้องทุกข์ร้องเรียน หรือจ่ายค่าบริการ ของเทศบาลผ่าน E Node คือเครือข่ายภาคประชาชน เช่น ร้านขายของชำ เป็นต้น ปิดท้ายด้วย

วันที่ 5 ตุลาคม 2566 ปิดท้ายการประชุมติดตามการจัดทำรายงานการวิจัยปฏิบัติการพัฒนาเมืองของเทศบาลที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยในพื้นที่ภาคเหนือ ณ เทศบาลเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน โดยการนำของ นายประภัสร์  ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน ซึ่งได้มอบหมายให้ นายสิริวุฒิ  คำธิตา รองนายกเทศมนตรีเมืองลำพูน นางทานตะวัน อินทร์จันทร์ รองปลัดเทศบาลเมืองลำพูน  และคณะทีมผู้วิจัยเทศบาลเมืองลำพูน จ.ลำพูน ให้การต้อนรับทีมวิจัย

        นายสิริวุฒิ  คำธิตา รองนายกเทศมนตรีเมืองลำพูน กล่าวว่า จากการเข้าร่วม พมส.ทางหน่วยงานได้รับทุนโครงการมาเพื่อขับเคลื่อนระบบด้านการจัดการระบบสุขภาพอัจฉริยะของเทศบาลเมืองลำพูน ซึ่งเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องของผู้สูงอายุในพื้นที่ ว่าผู้สูงอายุในบ้านมีกี่ราย พิกัดบ้านของผู้สูงอายุที่ไหนบ้าง ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่เทศบาลมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 2 พันกว่าคนคิดเป็นร้อยละมากกว่า 30 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะเชื่อมโยงข้อมูลให้เป็นข้อมูลกลาง ไม่ใช่เฉพาะข้อมูลผู้สูงอายุเท่านั้น แต่รวมทั้งข้อมูลอื่น ๆ ด้วย เพื่อเป็นการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ทุกช่วงวัย

ด้าน ผศ.ดร.ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ยังได้กล่าวปิดท้ายการประชุมทุกครั้งด้วยว่า เป้าสำคัญของการจัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) นี้ คือเพื่อยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ ผ่านการปฏิบัติการบนฐานงานวิจัยในประเด็นปฏิบัติการพัฒนาระบบและกลไกการนำข้อมูลมาสร้างมูลค่าและคุณค่า เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาองค์ความรู้และกลไกการเปลี่ยนแปลงองค์กรกระบวนการทำงานสู่ดิจิทัลอย่างเหมาะสม

เทศบาลตำบลบ้านกลาง

เทศบาลตำบลเกาะคา

เทศบาลเมืองลำพูน