ครั้งที่ 4 กับการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ของหลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 2

ครั้งที่ 4 กับการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ของหลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 2 “เชื่อมโยงห่วงโซ่ความรู้ และการพัฒนาใหม่ๆ ในการพัฒนาท้องถิ่น”

หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 2 ภายใต้โครงการการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ ของมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยมี นายอุดร ตันติสุนทร ผู้ก่อตั้งมูลนิธสิ่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยของหน่วยบริหารและจัดการทุนเด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ประจำปีงบประมาณ 2565 นั้น ได้มีการจัดประชุมปฏิบัติการบนฐานงานวิจัยในรูปแบบการประชุมออนไลน์ ภายใต้ตัวบทปฏิบัติการ “เชื่อมโยงห่วงโซ่ความรู้ และการพัฒนาใหม่ๆ ในการพัฒนาท้องถิ่น” ขึ้นในระหว่างวันที่ 22 – 23 มีนาคม 2566 โดยครั้งนี้จัด เป็นครั้งที่ 4 และได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน และด้านการสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรมทางการศึกษาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ จากกรณีศึกษาประเทศสหรัฐอเมริกา มาให้ข้อมูลความรู้ พร้อมเชิญผู้นำท้องถิ่นเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาท้องถิ่นในปัจจุบัน และเป็นการถอดบทเรียนเพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประชุมเกิดองค์ความรู้ไปปรับใช้และนำมาปฏิบัติ

สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเมือง วันที่ 22 มีนาคม 2566 เริ่มต้น ผศ.ดร. ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ที่ปรึกษามูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวทบทวนเป้าหมายการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเมือง อันมีใจความโดยสังเขปดังนี้ “ การยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ มีเป้าหมายเพื่อลงมือปฏิบัติการ การวิจัย พัฒนากิจการสาธารณะ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยใช้ข้อมูลความรู้ บนฐานการวิจัย รวมถึงการจัดการระดับพื้นที่ โดยครั้งที่ผ่านมา ทางมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มุ่งสร้างนักพัฒนาเมืองท้องถิ่น และหวังว่าศักยภาพ ความพร้อมทุกส่วนที่เกิดขึ้นล้วนเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมของประเทศ ความพร้อมด้าน digital การปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีโดยผู้นำท้องถิ่น และการมีภาวะผู้นำในการบริหารจัดการ การกระจายอำนาจ และการมีตัวช่วยในการพัฒนาท้องถิ่นต่อไป “

ต่อด้วยการสะท้อนวิสัยทัศน์ผู้นำ ของ นายกเลอสรร สายวาณิชย์ นายกเทศมนตรีเมืองเนื่องเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ดังนี้ “ จังหวัดฉะเชิงเทรานั้นหลัก ๆ จะเน้นในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ โดยการพัฒนาแม่น้ำลำคลอง ตลาดริมแม่น้ำ มีการเริ่มต้นอนุรักษ์ตลาดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรม โดยการจุดขายของตลาดมาเป็นแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งการค้าแบบสมัยก่อน รวมถึงการอบรบร้านค้า สร้างจุดขาย สร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะมีการสร้างเครื่องเล่นไว้สองฝั่งคลอง และพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกปี ส่งเสริมการออกกำลังกาย วัฒนธรรม มีกล้องวงจรปิด ระบบ Wi-Fi สาธารณะให้กับนักท่องเที่ยว หลังจากได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง การเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นเดิมจากตลาดชุมชนโบราณได้นำการค้าขายที่เป็นเชิงอนุรักษ์เข้ามา ทำให้ปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวมีความเจริญรุ่งเรือง และมันสามารถเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในชุมชนได้ ”

จากนั้น นายสัญญา แสวงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้เกียรติมาบรรยายให้ความรู้ เรื่องการบริหารจัดการน้ำ และอุทกวิทยาอัจฉริยะ อันมีสาระสำคัญ คือ “ ปัจจุบันรัฐบาลเรานั้นให้ความสำคัญกับน้ำมาก รวมไปถึงจังหวัดนครสวรรค์ก็มีปัญหาเรื่องของน้ำเช่นเดียวกัน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเราจะบริการจัดการยังไง แล้วทำไมเราต้องบริหารจัดการน้ำ ให้ไม่กระทบต่อภาคเกษตร และความเป็นอยู่ในชุมชน โดยมีการเสนอ 4 เสาหลักการบริหารจัดการน้ำไม่ว่าจะเป็น ด้านกฎหมาย ยุทธศาสตร์ องค์กรด้านน้ำและนวัตกรรม รวมไปถึงหน่วยงานที่เข้ามาจัดการน้ำ และยังมีในเรื่องของความต้องการที่ทำยังไงให้เกิดความยั่งยืนในการจัดการน้ำ ซึ่งก็เป็น 4 เสาหลักสำคัญคือ การบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ และความเป็นธรรมความยั่งยืน และหลายท่านคงเคยได้ยินศาสตร์พระราชาว่า “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานคร” ซึ่งเป็นหลักการรวมถึงขั้นตอนสำคัญในการจัดการ นอกจากหน่วยงาน องค์กรแนวคิดแล้ว ยังมีหลัก 3 ศาสตร์ในการบริหารจัดการน้ำ ประกอบด้วยหลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และอาจจะรวมไปถึงด้านไสยศาสตร์เข้ามาร่วมด้วยได้เช่นกัน แต่สุดท้ายต้องให้ความสำคัญกับความคิดของผู้นำเป็นหลักด้วย และยังมีปัจจัยสำคัญในการบริหารที่ต้องคำนึงถึงได้แก่ 1.ปริมาณ   2.เวลา 3.ผลกระทบ 4.ความมั่นคงของอาคาร 5.ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 6.ระเบียบ/กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และยังมีในส่วนของการจัดการน้ำ ที่สามารถแบ่งออกได้ว่าในแต่ฤดูกาลเราจะรับมืออย่างไร และจะบริหารอย่างไรให้สามารถหมุนเวียนมาใช้ได้ รวมถึงมีการเตรียมพร้อม การคาดการณ์ จัดการบริหารอยู่เสมอ เพื่อความเป็นธรรม มั่นคง    มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยมีการบริหารเพื่อใช้น้ำในการบริโภคเพื่อการเพราะปลูก ดังคำกล่าวที่ว่า “ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้” และ key word สุดท้ายจะเป็นในเรื่องขององค์กรอัจฉริยะ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ ให้ทุกภาคส่วนได้รับน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมมากที่สุด “

ต่อด้วย รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย Global Chief Innovation Officer จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาบรรยายพิเศษหัวข้อ “นวัตกรรมการศึกษาที่ทุกคนเข้าถึงตัวอย่างจากสหรัฐอเมริกา” ซึ่งมีเนื้อหาสาระ เกี่ยวกับ Quality Education For All การศึกษาที่มีคุณภาพสูงสำหรับทุกคนและทุกช่วงวัย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Chula education for societyการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมและการปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัย ให้กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่สอนอย่างมีคุณภาพ โดย รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย เล่าว่าสิ่งที่สำคัญ คือ “ใครทำสำคัญกว่าทำอะไร” ท้ายที่สุดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ได้จากการมีผู้นำ ไม่ว่าจะเป็น ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้นำเมือง ผู้นำการศึกษา แม้แต่ผู้นำในส่วนต่างๆของเมือง ต้องกล้าคิดต่าง และมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนความฝันให้เป็นความจริง พร้อมทิ้งท้ายว่า  “การศึกษาเป็นภารกิจของทุกคน อนึ่งเมืองแห่งการเรียนรู้นั้นมีองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เทศบาล เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม และพิพิธภัณฑ์ คือ กลไกในการพัฒนาความรู้ พัฒนาการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ในตอนท้ายของเรียนรู้ในวันแรก ผศ.ดร. ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ที่ปรึกษามูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ยังได้มาเน้นย้ำเกี่ยวกับบทบาทของ พมส. อันมีสาระสำคัญดังนี้ “ จากได้พูดถึงในเรื่องของการพลิกโฉมเกษตรไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ถือว่าเป็นเรื่องของศาสตร์สำคัญหนึ่ง และเป็นศาสตร์แห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งในอนาคตหากส่วนกลางทำหน้าที่ส่วนนี้เองไม่ไหว สุดท้ายแล้วหน้าที่หลักก็เป็นในส่วนของท้องถิ่นที่ต้องมีบทบาทมากขึ้น รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำ และอุทกวิทยาอัจฉริยะ ระบบน้ำที่พูดถึงทั้งปัญหา การบริหารจัดการน้ำร่วมกัน โดยในแต่ละพื้นที่ องค์กรปกครองงส่วนท้องถิ่นเองก็ต้องรับมือและจัดการ เพราะถือว่าเป็นโจทย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองที่จะต้องมีวิธีการและสามารถจัดการได้ และเป็นโจทย์วิจัยของ พมส.ที่จะต้องมีเครื่องมือเข้ามามีส่วนช่วยในการ การพัฒนาเมืองท้องถิ่นเรานั่นเอง ดังนั้นในส่วนของการเตรียมคนในศตวรรษที่ 21 นี้นั้น จำเป็นต้องเพิ่มเครื่องมือเข้ามาช่วยเป็นสำคัญ และยังรวมไปถึง 3 หัวข้อหลักในการที่จะดำเนินและพูดถึงในครั้งต่อไป ”

ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ผศ.ดร.ฌาณ ธรรมสิงห์ ได้มีการแนะนำการประเมินความพร้อมด้านดิจิทัล พร้อมกับแนะนำท่านวิทยากร และยังกล่าวถึงการสร้างการเรียนรู้ใหม่ การถ่ายทอด และแนะนำโครงการ รวมไปถึงกลไกการบริหาร การนำเครื่องมือเข้ามาใช้ในการบริหารท้องถิ่นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมามีการเรียนรู้การจัดการหลาย section และยังมีการอธิบายถึงบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันในการที่จะนำเครื่องมือเข้ามาใช้ในการขับเคลื่อนองค์กร หรือหาแนวทางในการบริหารจัดการร่วมกัน และทำอย่างไรจึงจะยกระดับประเทศโดยให้เป็นเมืองแห่งการพัฒนาในอนาคตได้

ต่อด้วย เรื่อง ข้อมูลสารสนเทศเพื่อยกระดับการพัฒนาท้องถิ่น โดย ศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ อันมีสาระโดยสังเขปดังนี้ “ความรู้เกี่ยวกับการมีข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการโดยใช้ฐานข้อมูลหลายมิติ เพื่อการบริหารงานอย่างชาญฉลาดนั้น ซึ่งในปัจจุบันทุกหน่วยงานถือว่ามีความตื่นตัวในด้านพัฒนาข้อมูลสารสนเทศขององค์กร ซึ่งให้ความสำคัญกับข้อมูลสารสนเทศว่า เป็นข้อมูลที่ถูกนำมามาประกอบการประเมินผลการทำงาน บันทึก data เป็นฐานในการคำนวณภาษี ฯลฯ ซึ่งถือว่าท้องถิ่นยังมีข้อดีและถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อการบริหารและขยายองค์ความรู้ และยังมีการยกตัวอย่างภาคจังหวัดที่ใช้ระบบสารสนเทศในการจัดการ รวมไปถึงข้อดีในการนำไปพัฒนาเมืองอย่างชาญฉลาดไม่ว่าจะเป็นการวางแผนพัฒนา ลงทุน วิเคราะห์ ทั้งในภาครัฐ เอกชน รวมถึงมหาวิทยาลัย เพื่อประโยชน์กับประชาชน และยังสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับอปท.ด้วยกันเอง”

และปิดท้าย การเรียนผ่านระบบออนไลน์ ของหลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 2 ครั้งที่ 4 ด้วยเรื่อง “ สถานการณ์เศรษฐกิจภูมิภาค แนวทางการระดมทุนท้องถิ่น “ โดย ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กระทรวงการคลัง ที่มาขมวดความรู้เรื่องเครื่องมือในการระดมทุนท้องถิ่น การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองในอนาคต ดังนี้ “การมีเครื่องมือดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นระดับภูมิภาค จังหวัด หรือภาคอื่นๆ จำเป็นจะต้องมีเครื่องมือในการระดมทุน เพราะถือว่าเป็นหนึ่งในโจทย์ของการพัฒนาเมือง และแนะนำหลักการว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะมีแหล่งเงินทุนในการพัฒนาเมืองได้ ซึ่งหลักการที่ว่าประกอบไปด้วย เรื่องของทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจไทย โดยต้องคำนึงถึงหลัก 4E  สถานการณ์เศรษฐกิจ การลงทุนในเศรษฐกิจถูมิภาค ดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ ซึ่งมีหลักการคือ โลกเปลี่ยน คลังปรับ ประชาชนได้ประโยชน์ อีกทั้งยังมีแนวทางการระดมทุน และในเรื่องของ Hometown tax รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับในเรื่องของระบบข้อมูลซึ่งถือว่า “โลกแห่งอนาคตคือโลกแห่งข้อมูล” ดังนั้น การผลักดันเครื่องชี้ดัชนีในการระดมทุนเพื่อนำมาพัฒนาเมืองต่อไป จะต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานเชิงพื้นที่ งานวิจัย นอกเหนือจากเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งนโยบายการคลังถือว่าทุนสำคัญมากในการพัฒนาเมือง เพราะ “การพัฒนาเมืองคือการลงทุน” นั่นเอง”